หลายครั้ง ทำไมคนรักกัน มักเลิกกันทั้งที่กำลังจะจัดงานแต่งงาน ?
Will you marry me ? หลังจาก say yes ฉากต่อไปก็น่าจะเป็นการวางแพลนงานแต่ง เตรียมตัดชุด จัดแจงเสื้อผ้าหน้าผมให้แน่น หาดอกไม้เตรียมรันงานเชิญแขก พร้อมนับถอยหลังให้ถึงวันแต่งงานเร็วๆ แม้จะเป็นฉากที่เหนื่อยแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขแบบสุดๆ ...
แต่หลายครั้งคู่รักหลายคู่ก็อาจไปไม่ถึงภาพฉากเหล่านั้นอย่างน่าเสียดาย จริงอยู่ที่การแต่งงานไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายและไม่ใช่เส้นชัยที่ต้องไปให้ถึง แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของบทบาทชีวิตที่อยู่กันเป็นคู่เสียมากกว่า และเพราะเหตุนี้การแต่งงานจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่มีอะไรให้ต้องคิด ต้องตัดสินใจอยู่หลายเรื่อง ไม่ใช่เพียงสวมแหวน จัดพิธี ส่งตัวเข้าหอ ตื่นมาเป็นสามีภรรยากัน ใช้ชีวิตด้วยกันแล้วจบ
แต่การใช้ชีวิตเป็นคู่หลังจากนั้นแตกต่างจากการใช้ชีวิตแบบแฟน ( หรือก่อนแต่ง ) ในหลายมิติมากๆ โดยเฉพาะช่วงก่อนแต่งมักจะมีหลายเรื่องที่ต้องคุยและตัดสินใจร่วมกัน จังหวะนั้นจะยิ่งได้เห็นความคิดที่ไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง บางคู่ยิ่งคุยยิ่งทะเลาะ ยิ่งเห็นข้อบกพร่อง เห็นทัศนคติที่ไม่ตรงกัน กลายเป็นความกังวลว่าถ้าแต่งกันไปแล้วจะรอดมั้ยก็มี

คนนึงทำงานกลางวัน อีกคนทำงานกลางคืน บางทีก็เรื่องใหญ่เหมือนกันนะ ดูอย่างเหมยลี่กับคุณลุงสิ
ใดๆ ก็ตาม หากคู่รักมองว่า process ข้างต้นนั้นถือเป็นการได้รีเช็กตัวเองก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ ถือเป็นเรื่องดีที่ควรทำก่อนแต่งงาน ก็พอเหมาะพอดีกับที่เรากำลังจะชวนคู่รักมาหาเวลาสนทนากันในหัวข้อต่างๆ นี้พอดีเลยล่ะ หัวข้อที่ว่าก็จะเป็นเรื่องที่ควรต้องทำความเข้าใจกันก่อนใช้ชีวิตคู่ จะเอาไว้คุยตั้งแต่ช่วงคบกัน หรือจะรีเช็กอีกทีก่อนแต่งงานก็ได้ บางทีอย่างน้อยหากคุยกันแล้วความสัมพันธ์ต้องจบ แต่ก็อาจเจ็บน้อยลงก็ยังดี เพราะถือว่าได้คุยกันก่อนแล้ว
แต่เดี๋ยวก่อน! ยกเว้นว่าถ้ามั่นใจสุดๆ ว่าคุยกันรู้เรื่องหมด และนี่ไม่ใช่สาเหตุของการล้มเลิกงานแต่งงานแน่ๆ บางทีอาจเกิดจากกรณีที่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นโรคกลัวการแต่งงานรึเปล่า !?
หรือเราจะเข้าข่าย ‘ โรคกลัวการแต่งงาน ( Gamophobia ) ’
‘ เจ้าสาวที่กลัวฝน ’ ไม่ได้เป็นแต่ชื่อเพลงนะคะทุกคน และเจ้าบ่าวที่เกิดอาการแพนิค กลัวการแต่งงานก่อนจัดงานก็มีอยู่จริงๆ โรคนี้เรารียกกันว่าโรคกลัวการแต่งงาน ( Gamophobia ) ซึ่งเป็นภาวะของคนกลัวการผูกมัดที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยมักมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
❥ ความกลัวในการสูญเสียอิสรภาพ
❥ กลัวการเปลี่ยนแปลง ทั้งร่างกายและจิตใจ กลัวรูปร่างเปลี่ยนไป หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รักกันเหมือนเดิม
❥ กลัวไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่
❥ ผู้ชายบางคนอาจกลัวการเป็นผู้นำครอบครัว ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง
❥ กลัวสิ่งที่ต้องทำ เช่น งานบ้าน
❥ ประสบการณ์เชิงลบในอดีต
❥ ความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย เช่น ภาวะมีบุตรยาก
อาการทางกายที่พบคือตัวสั่น คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ส่วนทางจิตใจก็อาจแสดงให้เห็นได้ว่าสูญเสียการควบคุม หรือมักจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องแต่งงาน และหากนี่คือสาเหตุ ทางแก้คือควรได้รับพฤติกรรมบำบัดจากจิตแพทย์ หรือทดลองปรับที่วิธีการคิดของตนเองด้วยตัวเองก็ได้
แต่หากยังไม่ใช่สาเหตุนี้ งั้นเรามาลองหยิบเช็กลิสต์ 15 ข้อที่คนเป็นแฟนกันน่าจะได้คุยกันก่อนแต่งงาน มาลองคุยกับคนรักกันดู ไม่ถึงกับต้องนั่งจับเข่าคุยกัน แค่ชวนคุยกันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นบทสนทนาบทนึงที่ผ่านมาในชีวิตให้ถามตอบกันแบบสนุกๆ ไม่ต้องยัดเยียดไม่ต้องคาดหวังกัน อาจได้อะไรมากมายในแบบที่คาดไม่ถึงก็ได้นะ
จริงๆ แล้วเรื่องที่ต้องตกลงคุยกันมันมีมากกว่า 15 เรื่องแน่นอนค่ะซิส แต่หัวข้อเหล่านี้คือที่คัดมาแล้วว่าเป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องได้เจอแน่ๆ แหละในชีวิตหลังแต่งงาน และนั่นก็คือ ...
1. แต่งงานแล้วจะนอนบ้านไหน
สำหรับคู่รักบางคู่ก็มักจะไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ไม่ว่าจะนอนบ้านตัวเอง นอนบ้านสามี หรือนอนบ้านภรรยาก็จะไปนอนด้วยกัน หรือบางคนก็ให้สิทธิ์แต่ละฝ่ายกลับไปนอนบ้านพ่อแม่ของตัวเองได้บ้าง หรือสำหรับคู่รักทางไกลที่ต้องอยู่ไกลกัน แต่งงานแล้วจะย้ายไปอยู่ด้วยกัน หรือแยกกันทำมาหากินแล้วไปมาหาสู่กันช่วงสุดสัปดาห์ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ผิด ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของแต่ละฝ่ายเลย
2. กับข้าวอาหารการกิน
ปกติก็เป็นปัญหาโลกแตกของมนุษย์เราอยู่ละ ยิ่งพอมาอยู่กันเป็นคู่มันยิ่งตกลงกันยากไปอีก ต้องถามกันบ่อยๆ ว่าเย็นนี้กินอะไร พรุ่งนี้ล่ะใครซื้อ สามีซื้อมาฝากทุกวัน หรือภรรยาช่วยแบ่งเบาได้ หรือถ้าจะทำอาหารทานกันเอง กลับมาจากทำงานแล้วทำทุกวัน หรือซื้อมากินทุกวัน จะรับได้รึเปล่า
3. การใช้เงิน
เรื่องเงินก็เรื่องใหญ่ค่ะ จะแบ่งเป็นกระเป๋าเงินเธอ เงินฉัน กระเป๋าเงินร่วมกัน หรือมีกองกลาง ใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนไหน แต่ละคนมีความสามารถและความพึงพอใจในการรับผิดชอบตรงนั้นหรือไม่ หรือบางทีมีคนมาขอหยิบยืมเงิน สามีและภรรยาจะให้สิทธิ์เป็นเรื่องส่วนตัว หรือจำเป็นต้องปรึกษากันทุกครั้ง หรือบางทีการสร้างหนี้ ก็ต้องตัดสินใจร่วมกันว่าใครรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ รับคนเดียวไหวมั้ย วางแผนจะใช้จ่ายหลังจากมีหนี้ยังไง บางครั้งจะใช้เงินแล้วถ้าอีกฝ่ายคอยคุมเราจะรับได้มั้ย
4. การนัดพบเยี่ยมญาติ พบปะ สังสรรค์
ความรักบางทีก็ไม่ใช่แค่เรื่องของเราสองคน เรายังมีครอบครัวของกันและกันที่ต้องเอาใจใส่ ดูแล การนัดพบ เยี่ยมญาติ จะไปด้วยกันหรือต่างคนต่างไป ซื้อของไปเยี่ยมบ้านสามีหรือภรรยาจะใช้เงินใครจ่าย หรือไม่ซีเรียส เรื่องเล็กน้อย สามีเหมาเองก็ว่ากันไป
5. การแบ่งเวลาให้ครอบครัวเดิม
การจัดสรรเวลาก็สำคัญนะ มีหลายคู่ที่ฝ่ายสามีพาภรรยาเข้ามาร่วมกิจกรรมทุกอย่างของครอบครัวเดิมตัวเอง จนไม่มีเวลาเป็นของทั้งคู่ให้แก่กัน หรือให้ความสำคัญกับครอบครัวดั้งเดิมของตนมาก่อนเสมอ เรื่องนี้จึงต้องดูความสบายใจของครอบครัวของตัวเองที่กำลังจะสร้างด้วยเหมือนกัน
6. Sex
หนึ่งในเรื่องที่เป็นเหมือนศาสตร์และศิลป์ของชีวิตคู่ บางคนต้องการมาก บางคนทำงานมาเหนื่อยแล้วความต้องการลดลง อาจมีกรณีที่บางฝ่ายอนุญาตให้ซื้อบริการได้ แต่สำหรับบางคู่จะรับได้หรือไม่ รวมถึงรสนิยมในเรื่องเซ็กซ์ที่แต่ละคนชอบแบบไหน แบบนี้ต้องคุยกันเอาเอง
7. การมีลูก
บางคนวาดฝันว่าแต่งงานแล้วจะมีลูกน้อยกลอยใจ แต่บางทีอีกฝั่งก็อยากใช้ชีวิตสองคนด้วยกันไปจนแก่ ดูแลครอบครัวพ่อแม่กันไปแทน หรือแม้แต่จำนวนสมาชิกลูกน้อย บางทีก็เปลี่ยนแปลงกันตลอด หรือเมื่อมีลูกด้วยกันแล้ว จะเลี้ยงกันเองหรือทาบทามคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายช่วยดูแล ใครเลี้ยงเป็นหลัก มีบัญชีสำหรับลูกเลยหรือไม่
8. การปฏิบัติต่อเพศตรงข้าม
ก่อนนี้จะทักเพื่อนผู้หญิงกี่คนก็ได้ หรือจะคุยกับเพื่อนผู้ชายสนิทใจยังไงก็ได้ แต่แต่งงานไปแล้วบางคู่ก็อาจมีกฎของกันและกันว่าจะสนิทกันได้ขนาดไหน ต้องมีเส้นหรือไม่ หรือบางคนอาจไม่ถือ ไม่คิดอะไรเลย จะใช้วิธีคุยกันตรงๆ หรือแอบสังเกตดูเอาก็ได้
9. การพูดคุย รับฟัง เยียวยาทางจิตใจเหมือนเพื่อนสนิท
แน่นอนว่าพอเป็นสามีภรรยา เรามักจะมีเรื่องแชร์ต่อกันเสมอ อีกฝ่ายควรเป็นผู้ฟังที่ดี รู้วิธีในการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาได้ ในทางกลับกันก็สามารถสลับบทบาทให้กันและกันได้ ซึ่งเหมือนกับคุณสมบัติของเพื่อนสนิท ที่พร้อมเแสตนบายเพื่อเราเสมอ พร้อมรับฟังปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ วนไป แต่หากฝ่ายหนึ่งไม่ชอบฟัง ในขณะที่เราชอบพูดระบาย หรืออีกฝั่งไม่ชอบพูด ชอบเก็บ แต่เราชอบซักถามพูดคุยกันตรงไปตรงมา ก็อาจต้องหาทางออกตรงกลางร่วมกัน

10. เลี้ยงสัตว์
ถ้าชอบเลี้ยงสัตว์ทั้งคู่ก็ดีไป แต่ถ้าบางคู่คนนึงรักสัตว์มากแต่อีกคนแพ้ขนสัตว์ แบบนี้คงต้องเลือกแล้วล่ะว่าจะเลือกสัตว์หรือคนรัก หรืออาจมีวิธีที่ดีกว่านั้นก็ต้องหาทางคุยกัน ยิ่งในบางคู่ที่จะมีลูกและเลี้ยงสัตว์ด้วย จะบริหารการดูแลยังไงก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดเหมือนกันนะ
11. การเดินทางใช้รถคันเดียวกัน คนละคัน หรือไม่ใช้
เหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งถาม แต่บางทีบางคู่ฝ่ายนึงชอบขับรถ ไม่ชอบใช้รถสาธารณะ แต่อีกฝ่ายเบื่อรถติดเลยชอบใช้รถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าในการเดินทาง หรือแม้กระทั่งประเภทของรถ บางคนพอใจในการนั่งรถมอเตอร์ไซค์ ในขณะที่อีกฝ่ายสบายใจที่จะนั่งเก๋ง เรื่องนี้ก็ต้องปรับจูนกันเหมือนกัน
12. การทำงาน สถานที่
เรื่องนี้ก็มีนะ บางคนมีความเชื่อว่าหากฉันออกไปทำงานข้างนอก เธอควรจะอยู่บ้านเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยในบ้าน หรือบางคนเห็นว่าฉันควรหาจ๊อบที่ทำที่บ้านได้ เพื่อจะได้มีเวลาดูแลอีกคนที่ออกไปทำงานนอกบ้านได้ เพราะเชื่อว่าหากออกไปทำงานข้างนอกกันทั้งคู่อาจทำให้ความสัมพันธ์ไม่แนบแน่น และส่งผลกระทบได้ในระยะยาว
13. ทรัพย์สมบัติ
ถ้าชวนคุยแต่เนิ่นๆ อาจเหมือนดูเหมือนคนโลภหวังสมบัติ แต่ในมุมนึงก็เคลียร์ดีเหมือนกันนะ เพราะในเชิงของการวางแผนอนาคตร่วมกัน เราควรจะคุยเรื่องทรัพย์สมบัติกันให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าเราตัดสินใจจะทำอะไรก็ของชิ้นนี้ เช่น บ้านที่ซื้อร่วมกัน รถที่ต่างคนต่างซื้อ มรดกที่ได้รับมา มรดกที่จะส่งต่อจะไปที่ไหน มีหนี้หรือภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบอีกบ้าง
14. เวลาส่วนตัว
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มหาศาลนะ บางคนแม้จะมีชีวิตคู่แล้ว แต่ก็ต้องการเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเองสูงมาก ในขณะที่บางคู่ ฝ่ายนึงต้องการใช้เวลาร่วมกับอีกฝ่ายตลอดเวลา จนไม่เหลือพื้นที่ส่วนตัวให้อีกฝั่งเลย แบบนี้ก็ต้องมาดูแล้วล่ะว่าคู่ของเรารับได้มั้ย แบบไหนที่จะมาเจอกันตรงกลาง
15. การจัดงานแต่งงาน
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เพราะอย่างที่บอกว่าการแต่งงานคือการเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่อย่างเป็นทางการ ซึ่ง เรื่องการจัดงานแต่งงานก็ถือเป็นด่านปราบเซียนก็ว่าได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่าจังหวะนั้นความคิดที่ไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง จะโผล่เข้ามาแบบไม่ได้นัดหมาย การค่อยๆ คุยกันว่าเธอชอบแบบไหน ฉันสะดวกแบบนี้ก็น่าจะดีต่อทั้งคู่เลยล่ะ

หากต้นเหตุของเรื่องนี้ไม่ใช่ความรัก ก็อาจจะเป็น…
ดูเหมือน 15 หัวข้อชวนคุยที่ว่ามาจะเป็นเรื่องดีเทลหน่อยๆ แต่มันคือเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นจริงในความสัมพันธ์แบบชีวิตคู่ของหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ ซึ่งการได้หาเวลาคุยกันอาจทำให้เจอวิธีถอยมาเจอกันคนละครึ่งทางได้เร็วขึ้น หรือทำให้เลือกทางเดินคนละเส้นทางได้ง่ายขึ้น ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน
เพราะต้องยอมรับว่าสุดท้ายการพูดคุยกันในหัวข้อเหล่านี้ไม่อาจการันตีความยืนยาวของความสัมพันธ์ได้ และไม่การันตีว่าจะทำให้มีชีวิตคู่หลังแต่งงานที่ยั่งยืนและมีความสุขตลอดไป
แต่อย่างน้อยก็เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมชีวิตคู่ได้ในทางนึง หรือจะถือเป็นยันต์กันลืมก็ได้ กันลืมว่าเรากำลังจะมีชีวิตที่ต้องใช้ชีวิตแบบเป็นคู่อย่างเต็มรูปแบบ ต้องอยู่ด้วยกันทุกวัน เห็นหน้ากันแทบจะตลอดเวลา ไหนจะต้องเผชิญเรื่องจุกจิกยิบย่อยในแต่ละวันร่วมกันอีก
แต่อย่างน้อยก็เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมชีวิตคู่ได้ในทางนึง หรือจะถือเป็นยันต์กันลืมก็ได้ กันลืมว่าเรากำลังจะมีชีวิตที่ต้องใช้ชีวิตแบบเป็นคู่อย่างเต็มรูปแบบ ต้องอยู่ด้วยกันทุกวัน เห็นหน้ากันแทบจะตลอดเวลา ไหนจะต้องเผชิญเรื่องจุกจิกยิบย่อยในแต่ละวันร่วมกันอีก
และอย่าลืมว่าจุดตั้งต้นของการเริ่มคุยคือการที่จะทำความเข้าใจอีกฝ่าย และถามเพื่อลองหาทางปรับตัวเข้าหากัน ทำความรู้จักทัศนคติ รู้จักตัวตนกันและกันให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่จะมาแบ่งแยกกันและกัน หรือหาว่าใครเป็นคนผิด เพราะแน่นอนว่าทั้งคู่ต่างรู้ว่าปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่ความรัก แต่คือการยอมให้แก่กัน และการรับตัวตนของกันและกันได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า
- - - - - - - - - - - - - -
หรือคุณคิดว่ายังมีสาเหตุของการเลิกราทั้งที่ยังรักในแง่มุมอื่นๆ อีก ก็อาจจะต้องแนะนำกันหน่อย หรือจริงๆ แล้วยังมีเรื่องไหนที่คู่รักควรคุยกันก่อนแต่งงานได้อีกบ้าง แชร์มาเล่าให้ฟังกันได้เลย ชาวซิสรอฟังอยู่น้า <3
Designer : Lilybaecon
Writer : parae
Writer : parae
Comments