" อันตรายใกล้ตัว " พูดถึงเรื่องที่เป็นโรคภัยใกล้ตัวอย่างผู้หญิงเรานั้น สามารถพบเจออาการหรือความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้จากความผิดปกติ ที่แสดงอาการต่างๆ ออกมาให้เราเริ่มที่จะสงสัย ยกตัวอย่างอาการที่ทำให้เราสามารถกังวลได้เลยคือรอบเดือนประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวเห่อไม่หยุดทั้งที่ปกติไม่เคยเป็นหนัก เป็นต้น ทำให้อาการเหล่านี้ที่แสดงออกมาก็ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนเริ่มที่จะตระหนักถึงความผิดปกติในครั้งนี้ ฉะนั้นแล้วเรามาดูถึงความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้กัน คือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ( PCOS ) เสี่ยงต่อสุขภาพแบบไหนและส่งผลกระทบอะไรบ้างไหนชีวิต เพื่อทีจะรีบเข้ารับการปรึกษาพร้อมรักษาโดยด่วน
♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS คืออะไร ?
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOS) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบเป็นชีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ของผู้หญิง เมื่อชีสต์หรือถุงน้ำไปเบียดรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่เกิดความผิดปกติ ทำให้การตกไข่เกิดความไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่เลย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่มักจะพบในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยพบความชุกประมาณร้อยละ 5-10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ ทั้งอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิเช่น ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต เป็นต้น

อาการเสี่ยงเข่าข่ายภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้นั้น เป็นอาการเบื้องต้นที่เพศหญิงสามารถสังเกตความผิดปกตินี้ได้ เมื่อพบเจอความผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อที่จะทำการรักษาโดยอาการที่จะแสดง มีดังนี้
- ประจำเดือนเว้นช่วงนาน ห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6-8 ครั้งต่อปี
- รอบประจำเดือนขาด 6 เดือนในผู้หญิง ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
- ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรืออาจจะมามากเกินไป มานานติดต่อกันจนผิดปกติ รวมไปถึงเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติด้วย
- ภาวะแอนโดรเจน (Androgen) เกิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เมื่อพบว่าฮอร์โมนเพศชายมีมากในเพศหญิงเกินไป สามารถทำให้เกิดภาวะขนหนาและขนดก สิวขึ้นมากกว่าเดิม ผิวมัน และหนังศีรษะเริ่มล้าน เป็นต้น
- น้ำหนักมากเกินไป หรืออ้วนขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว ทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้
อาการบ่งชี้ PCOS ที่มองข้ามไปไม่ได้
นอกเหนือจากอาการเสี่ยงที่เข้าข่ายภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอาการบ่งชี้บางอย่าง ที่พบได้บ่อย ๆ กับคนที่มีภาวะนี้ด้วย เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้เพื่อน ๆ แล้ว ดังนี้
- สิวเป็นซ้ำหายยาก : รู้มั้ยว่า คนที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ อาจจะมีสิวขึ้นตามหลัง ใบหน้า หรือหน้าอกเป็นซ้ำ ๆ วนเวียนอยู่อย่างนั้น แถมยังรักษาให้หายได้ยากด้วย
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ : ในกรณีของประจำเดือน อาจจะมีทั้งมามากกว่าปกติ และขาดหายไปนานกว่าปกติ ไม่ว่าจะแบบไหน ก็เสี่ยงทั้งนั้นค่ะ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบอาจทำให้ประจำเดือนขาด ๆ หาย ๆ มาไม่ปกติ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เลือดออกมากกว่าปกติในช่วงที่มีประจำเดือนด้วย ซึ่งน่ากลัวมาก ๆ
- โรคอ้วน : บางคนอาจจะคิดว่า เมื่อเราป่วย ร่างกายจะต้องซูบผอม แต่รู้มั้ยว่า ร้อยละ 40 ถึง 80 ของผู้ที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จะมีน้ำหนักเกิน หรือมีปัญหาในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติค่ะ
- โรคผิวหนังช้าง : หนึ่งในข้อบ่งชี้ของผู้ที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบคือ จะมีปื้นดำ ๆ ที่ผิวบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือใต้หน้าอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสังเกตเห็นได้ง่าย
- ซีสต์ : โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีซีสต์เกิดขึ้นที่รังไข่ ทำให้รังไข่ดูใหญ่กว่าปกติ เมื่อตรวจด้วยอัลตราซาวนด์
- ติ่งเนื้อ : ผู้ที่มีภาวะนี้อาจมีติ่งเนื้อเกิดขึ้นที่คอ หรือรักแร้
- ภาวะผมบาง : ผู้ที่มีภาวะนี้อาจมีภาวะผมบาง โดยผมจะร่วงเป็นกระจุก
- ภาวะมีบุตรยาก : ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในผู้ที่มีเพศหญิงแต่กำเนิด (AFAB) การตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์
PCOS อันตรายไหม ใครเสี่ยงเป็นบ้าง ?
หลาย ๆ คนคงกำลังสงสัยว่า โรค PCOS นี้ มันอันตรายมากแค่ไหน แล้วใครบ้าง ที่เสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ วันนี้เราหาคำตอบมาให้เพื่อน ๆ กันแล้วค่ะ หากถามว่า การป่วยเป็นโรคนี้ อันตรายหรือไม่ บอกเลยว่า ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคนี้ ถ้าไม่รีบไปรักษา ความเสี่ยงยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
- อย่างแรกเลยคือ มีความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัว และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกมาเป็นประจำเดือนเหมือนสตรีที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ซึ่งมักจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็นในช่วงอายุที่มากขึ้น หรือวัยหมดประจำเดือน
- อย่างที่สองคือ เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพราะคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่โรค PCOS มีความสัมพันธ์ในการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน เสี่ยงมากที่จะมีระดับไขมันสูงกว่าปกติ และโรคความดันโลหิตสูง ถ้าไม่รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งเสี่ยงทำให้เป็นโรคอ้วนลงพุง นำมาสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดตามมา
แล้วใครบ้าง ที่เสี่ยงป่วยเป็น PCOS ตามผลการสำรวจ พบได้ประมาณร้อยละ 10 - 20 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และพบได้มากขึ้นในสตรีที่มีภาวะอ้วน
PCOS กับความอ้วนในผู้หญิง
ความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติโดยเฉพาะ อาการอ้วนที่ลงพุง (Metabolic Syndrome) มีผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตไขมันออกมามากเกินไป เมื่อไขมันมีมากการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีหน้าที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงเกิดความผิดปกติขึ้น ส่งผลให้รังไข่นั้นไม่สามารถตกไข่ได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่เลย เป็นผลให้ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ประจำเดือนทิ้งช่วงนานหรือขาดหาย ผลสุดท้ายอาจจะส่งผลเรื่องการมีลูกยากไปด้วยในอนาคต ไม่เพียงเท่านั้นอาการอ้วนลงพุงยังเป็นอันตรายต่อร่างกายและเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างเช่น เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพราะระดับไขมันที่สูงมากเกินจนผิดปกติ และยังเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจได้
ความรุนแรงของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
หากเมื่อพบแล้วว่าเจอภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS แล้วไม่รีบรักษาสิ่งที่จะตามมานั้นก็ส่งผลร้ายแรง ดังนี้
- มีบุตรยาก เนื่องจากภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง และหากเกิดการตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะแท้งลูกในช่วง 3 เดือนแรกได้
- เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ด้วย เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์
- เพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุในโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งเต้านม

แนวทางการรักษาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- ในรายที่ยังไม่ต้องการมีบุตร แพทย์จะใช้ยาฮอร์โมนเพื่อให้มีระดูสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัว หรือมะเร็งเยื่อบุมดลูก โดยยาฮอร์โมนที่ใช้อาจเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย เพื่อให้มีระดูตามรอบยาและลดอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกินไป เช่น สิว หน้ามัน ผมร่วง ขนดก และคุมกำเนิดได้ด้วย ในกรณีนี้จะใช้้ฮอร์โมนชนิดใดแพทย์จะมีการพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายบุคคล
- ในรายที่ต้องการมีบุตร อาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตร เพื่อร่วมประเมินและให้การรักษา โดยมีวิธีรักษาได้แก่- ใช้ยากระตุ้นไข่ชักนำให้เกิดการตกไข่ แล้วทำการฉีดเชื้อ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือความผิดปกติของโรคในสตรีแต่ละบุคคล- การรักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้แค่เฉพาะกลุ่มสตรีที่มีลูกยาก โดยจะทำการผ่าตัดเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตกไข่
- ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนักควบคู่ไปกับการกินอาหาร เมื่อสามารถลดน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายก็สามารถที่จะกลับมาใกล้เคียงจนถึงปกติ ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาภาวะดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เป็นต้น
PCOS หายเองได้ไหม
เราว่า ต้องมีพี่สาว น้องสาวหลายคนแน่ ๆ ที่กำลังตั้งคำถามว่า ภาวะ PCOS มันสามารถหายไปเองได้มั้ย ตอบตรงนี้เลยว่า ไม่ได้นะคะ เนื่องจาก PCOS เป็นโรคที่เป็นภาวะเรื้อรัง ไม่สามารถหายขาดได้ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับสาเหตุ และปัจจัยหลายอย่างด้วย แต่ถึงแม้จะไม่สามารถหายไปเองได้ ก็ยังสามารถทำให้ตัวโรคดีขึ้นได้ค่ะ แถมเรายังสามารถป้องกันไม่ให้ไม่เกิดโรคอื่น ๆตามมาได้ด้วยนะ
คนที่เป็น PCOS แต่มีอาการไม่เยอะ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างดู ก็อาจจะพอช่วยให้ตัวโรคดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรไปตรวจดีที่สุดค่ะ แพทย์จะทำการประเมิณ และให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดกับเราได้ สำคัญคือ ต้องปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วยนะ
วิธีการตรวจPCOS มีอะไรบ้าง ?
วิธีการตรวจหาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ มีทั้งหมด 3 วิธีหลัก ๆ ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่สามารถตรวจเองได้ ฉะนั้นจะต้องไปทำการตรวจที่โรงพยาบาล จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนะคะ แรกเริ่มเลย แพทย์จะใช้ข้อมูลจากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ประกอบกับการตรวจร่างกายซึ่งได้แก่
- ตรวจภายใน (Pelvic exam) เพื่อดูลักษณะรังไข่ว่า มีลักษณะเข้าได้กับถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือไม่ หรือตรวจเพื่อหาความผิดปกติอื่น ๆ ของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
- อัลตราซาวน์ (Ultrasound) เป็นการตรวจสอบโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อแสดงภาพของอวัยวะภายในว่ามีความผิดปกติของขนาดหรือไม่
- การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับของฮอร์โมนเพศ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
ในส่วนของราคานั้น ถ้าถามว่าแพงมั้ย จริง ๆ ราคาไม่ถือว่าแพงมาก อยู่ที่ 5,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ก็แล้วแต่โรงพยาบาลด้วยนะคะ แต่ละที่ราคาไม่เหมือนกัน ก่อนจะไปทำการตรวจ เพื่อน ๆ อาจจะต้องทำการเช็กราคา และโปรแกรมการตรวจกันดูก่อนนะ
วิธีดูแลตัวเองของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
- ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
- ใช้ยาฮอร์โมนตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยา หรือลดยาเอง หรือปรับเปลี่ยนยาเอง
- ไปตรวจติดตามตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️
เมื่อเกิดความผิดปกติสิ่งที่เราสามารถทำได้เลยคือรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจโรคและทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนเพื่อที่จะได้หาทางรีบแก้ไขหรือรักษา ซึ่งสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับทั้งก่อนและหลังจากรู้ถึงความเสี่ยงของตัวเองที่เข้าข่าย ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS นั้นคือการใส่ใจในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและใส่ใจการทานผักผลไม้มากขึ้น สังเกตตัวเองเพื่อที่จะได้รับรู้ความผิดปกติที่แสดงออก ฉะนั้นแล้วอย่าลืมดูแลสุขภาพกับด้วยนะคะ
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ : Thai PBS / Sanook / kyoritsu-biyo
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ : bangkokhospital / siphhospital / medparkhospital / samitivejhospitals
♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️♥️
บทความแนะนำ

เมนส์มาไม่ตรง จะผอมมั้ย? 9 ทริคไดเอท เมื่อสาวๆ ป่วยเป็นโรค 'PCOS' (ถุงน้ำหลายใบในรังไข่) ❤ | บทความของ Mollacake | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/72318

ว่าด้วยเรื่อง ' อาการตอนเป็นเมนส์ ' แบบไหนเรียกปกติ / ไม่ปกติ เช็กแล้วไปพบแพทย์ก็ดีนะ | บทความของ SIS GURU | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/92724

รวมเหตุผลทำไมลดน้ำหนักแล้วประจำเดือนยังไม่มา | บทความของ ช้างสีฟ้า | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/87551

โรคมะเร็งปากมดลูก คืออะไร ชวนทำความเข้าใจพร้อมบอกพิกัดฉีดวัคซีน | บทความของ belfry | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/95576

รู้ไว้ดีกว่าเยอะ! เช็ก " สีของประจำเดือน " บอกถึงภาวะสุขภาพอะไรบ้าง? พร้อมวิธีใช้ผ้าอนามัย ให้ถูกหลักสุขอนามัย | บทความของ SIS GURU | SistaCafe ครบเครื่องเรื่องบิวตี้
https://sistacafe.com/summaries/91793