1. SistaCafe
  2. วิธีรับมือเสียงพลุ ฮาวทูเตรียมตัวช่วงเทศกาล มลพิษทางเสียงที่หลายคนตกใจ

ทักทายเพื่อน ๆ ในช่วงปลายค่าา สำหรับช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้ เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่แฮปปี้ของใครหลาย ๆ คนเลยใช่มั้ยล่ะคะ มีทั้งช่วงวันหยุดยาว และยังมีงานเทศกาลรอให้ปาร์ตี้เฉลิมฉลองอยู่เพียบเลย และถ้าพูดถึงงานเทศกาลเฉลิมฉลองจะขาดพลุสวย ๆ อลังการไปได้ยังไง บทความนี้อยากชวนเพื่อน ๆ มา Talk เมาท์มอยถึง วิธีรับมือเสียงพลุ ในช่วงเทศกาลกันหน่อย ว่าภายใต้ความสนุกสนานกลับมีมุมหนึ่งที่ควรระวังอยู่ด้วยนะ


เทศกาลกับพลุทำไมจึงเป็นของคู่กัน?

การเฉลิมฉลองงานเทศกาลด้วย พลุ เป็นเรื่องที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัย ยุคเรเนซองส์ ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรป ในยุคนี้เลยเปลี่ยนระเบิดในสงครามมาเป็นดอกไม้ไฟ เปลี่ยนจากประทัดขับไล่ปีศาจ มาเป็นพลุดอกไม้ไฟสวยงามสำหรับการเฉลิมฉลองแทน และในช่วงนั้นพระราชวังของยุโรป จะใช้การแสดงพลุเพื่อเฉลิมฉลองในงานสำคัญต่าง ๆ เช่น พิธีราชาภิเษก ทำให้พลุกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมีและพลังอำนาจ การจุดพลุเลยมีข้อดีเป็นตัวแทนการแสดงพลังความสุข ความมั่งมี ความสนุกสนานมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ถึงแม้ว่าการจุดพลุในเทศกาลงานเฉลิมฉลองจะมาพร้อมกับความสุข สนุกสนาน แสดงถึงพลังอำนาจ แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ยังมีบางกลุ่มที่ไม่ค่อยเอ็นจอยเท่าไร ถ้ามีการเฉลิมฉลองที่มาพร้อมกับเสียงดัง โดยเฉพาะเสียงพลุน่าตกใจกลัว เพราะในช่วงเทศกาลมีการเฉลิมฉลอง จุดพลุตู้มตามสวยงามสะใจ

แต่ก็มักจะมีข่าวน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงหลุดหายเพราะตกใจเสียงพลุ สัตว์เลี้ยงหวาดกลัวเสียงพลุจนช็อก รวมไปถึงคนเราก็ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ sensitive เรื่องเสียงดัง คนที่มีปัญหาความเครียด ความดัน วิตกกังวล หรือคนที่เป็นโรคหัวใจ ก็ต้องระวังอย่างมาก เพราะอาจจะเกิดข้อเสียทำให้ตกใจจนช็อกได้ด้วยเหมือนกัน แต่ในช่วงเทศกาลเราคงเลี่ยงไม่เจอพลุไม่ได้มากเท่าไร เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาเตรียมตัวร่วมกับเทศกาลที่ต้องจุดพลุให้ได้มากขึ้น


ทำไมเสียงพลุจึงกลายเป็นมลพิษทางเสียง?

จากข้อมูลจากสสส. บอกว่าเสียงจากการจุดพลุก่อให้เกิดระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบลเอ มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว และหากต้องได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร นอกจากนั้นเสียงดังจากพลุยังกระทบต่อสัตว์อย่างมาก โดยปกติสัตว์จะมีการรับรู้เสียงที่ดีมากกว่ามนุษย์ อยู่ที่ประมาณ 67 Hz-45 kHz

เมื่อเกิดเสียงดังมนุษย์เราจะได้ยินในระดับปกติและรู้สึกเฉย ๆ แต่น้องหมา น้องแมว หรือสัตว์อื่น ๆ จะได้ยินเสียงดังกว่าคนเราถึง 2-4 เท่าเลย เสียงพลุดัง ๆ เลยทำให้น้องสั่นกลัว หูอื้อ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว และอาจจะทำให้ช็อกจนตุยได้เลย รวมไปถึงคนที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตด้วยเหมือนกัน เสียงดังอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้หงุดหงิด นอนไม่หลับขั้นได้ ( ข้อมูลจากกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย )


ทำความเข้าใจกับเรื่องราวของพลุในงานฉลองมาแล้ว ทำให้ได้รู้ว่าพลุก็มีทั้งข้อดีและยังมีข้อควรระวังอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของเสียงดัง ที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ก็ได้มีการพัฒนาพลุไร้เสียง ที่ยังคงให้ความสวยงาม ความสนุกสนานในงานเทศกาลเฉลิมฉลองได้อยู่ และไม่มีเสียงมาทำให้กังวลใจด้วย


แจกทริควิธีจุดพลุยังไงให้ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น


1. แสดงพลุแบบไร้เสียงด้วย "การบินโดรน"

เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกล บางทีเราอาจจะไม่จำเป็นต้องจุดพลุให้เสียงดัง หรือเกิดอุบัติเหตุเลยก็ได้ เพราะเราสามารถจำลองพลุ หรือการแสดงแสงสีอลังการได้ด้วยการบินโดรน อย่างที่เกาหลีก็เริ่มนำเทคโนโลยีล้ำ ๆ มาใช้แทนพลุเสียงดัง ด้วยการแสดงโดรน A Special Chuseok ในงานฉลิมฉลองเทศกาลชูซอก ที่ชายหาดควังอัลลี เมืองปูซานที่สวยงามไม่แพ้กัน ( ข้อมูลจากเพจ Jasonland แดนกิมจิ )

ซึ่งการทำงานของพลุจำลองด้วยการบินโดรน จะใช้การเขียนโค้ดเพื่อดำเนินการบินที่ซับซ้อน และติดตามโดรนบินบนท้องฟ้าจากการซิงโครไนซ์ด้วยโปรแกรม เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำตามเส้นทางที่กำหนด ออกมาเป็นงานแสงสีรูปร่างต่าง ๆ ตามที่เราออกแบบ ( ข้อมูลจาก lumasky ออแกไนซ์ที่ให้บริการจัดแสดงโดรน ) ส่วนตัวรู้สึกเป็นการเฉลิมฉลองที่ทันยุคทันสมัย เข้ากับยุค new normal มาก ๆ เลย แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีก้าวหน้า ความคิดสร้างสรรค์ของคนยุคใหม่ และไม่กระทบต่อมลพิษทางเสียงด้วย



2. แสดงพลุแบบไร้เสียงด้วยการ "จุดพลุด้วยไฟจอ LED"

จากการบินโดรนที่ใช้การเขียนโค้ดกำนดทิศทางการแสดงพลุด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ การแสดงพลุสิ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทริคจุดพลุไร้เสียงด้วยเทคโนโลยีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อยากแนะนำให้หลาย ๆ ที่ลองทำดู โดยเฉพาะองค์กรหรืองานเทศกาลที่จัดภายในเมือง ไม่สามารถจัดพลุได้ หรือไม่อยากจุดพลุรบกวนรอบข้าง ส่งผลเสียเป็นมลภาวะทางเสียง ก็จุดพลุด้วยไฟจอ LED ไปเลย อย่างที่ลาสเวกัส รัฐเนวาดา ในอเมริกา เขาได้ฉลองวันชาติสหรัฐฯ ด้วยการแสดงพลุผ่านจอ LED ทรงกลมขนาดยักษ์ หนึ่งในแลนด์มาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยว จัดแสดงได้สวยงามอลังการไม่แพ้พลุจริงเลย ได้โชว์เทคโนโลยีล้ำ ๆ ได้โชว์แลนด์มาร์คเก๋ ๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และไม่มีเสียงกวนใจด้วย เป็นการฉลองแบบปลอดภัยสวยงามในช่วงเทศกาล



3. แสดงพลุ AR ด้วย "แสงเลเซอร์"

ต่อมาก็ยังเป็นอีกหนึ่งทริคแสดงพลุไร้เสียง ด้วยเทคโนโลยีล้ำ ๆ อย่างการใช้ เทคโนโลยี AR จากข้อมูลของ TCDC ได้เล่าถึงการแสดงพลุ AR เป็นพลุที่ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมหรือ Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีที่ผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานที่หลากหลาย

และก็ได้มีการนำมาใช้กับการแสดงพลุไร้เสียง ด้วยการแสดงพลุแบบเสมือนจริง คนดูสามารถไปยังจุดที่กำหนดไว้ แล้วรับชมพลุผ่านสมาร์ตโฟนหรือแว่นโฮโลแกรม และความเก๋ของพลุ AR นอกจากจะไม่มีเสียงดังกวนใจ คือเรายังสามารถเลือกสีสันและรูปแบบของพลุได้เองอีกด้วย และเทคโนโลยีพลุ AR ฏ้ได้มีการทดลองใช้มาแล้วที่เบิร์จคาลิฟา ตึกที่สูงที่สุดในโลกในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อีกด้วย



4. แสดงพลุด้วยการ "จุดพลุเงียบหรือดอกไม้ไฟเงียบ"

นอกจากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดแสดงพลุ ก็ยังมีการพัฒนาพลุของจริงให้ลดความดังลง หรือเรียกว่าพลุเงียบ / ดอกไม้ไฟเงียบ ( Silent Fireworks ) เพื่อให้เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมทางเสียงมากขึ้น ข้อมูลจาก Environman เขารายงานมาว่า Silent Fireworks เป็นพลุที่สร้างเสียงรบกวนน้อยมากกว่า

และยังเป็นพลุที่มีเสียงอยู่แต่จะปล่อยเสียงที่ระดับความดัง 70-120 เดซิเบล แต่การใช้พลุเงียบก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามันดีต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพแวดล้อมทางเสียงจริงมั้ย เพราะมันเป็นพลุที่มีเสียงอยู่และไม่ได้เงียบจริง ทางหนึ่งก็บอกว่ามันก็อาจจะดีที่ได้ดูพลุแบบของจริง โดยที่เสียงไม่ดังเกินไป แต่บางคนก็บอกว่าอาจจะดีมากกว่าถ้าได้ดูพลุสวย ๆ แบบเงียบ ๆ โดยไม่ต้องปิดหูเลย



5. แสดงพลุด้วยการ "จุดพลุที่ไม่มีดินปืน"

นอกจากในเรื่องของเสียงดังของพลุที่เป็นมลพิษต่อสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวพลุเองก็ค่อนข้างส่งผลเสียกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน เพราะส่วนผสมในการทำพลุ มีทั้งออกซิไดซ์ เชื้อเพลิง และสารที่ทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ รวมไปถึงดินประสิว ดินปืน ฯลฯ ที่เมื่อระเบิดออกจะกลายเป็นสารโลหะในรูปของควันพิษและไอระเหยเข้าสู่ร่างกายได้ จึงได้มีการพัฒนาพลุที่ไม่มีดินปืนขึ้นมา อย่างที่ Studio Roosegaarde

สตูดิโอออกแบบเพื่อสังคมในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกแบบ ‘SPARK Bilbao’ พลุไฟไร้เสียงที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกายจากการสูดดมไอระเหยของโลหะอนินทรีย์ โดยเปลี่ยนส่วนผสมจากสารโลหะไปเป็นสารชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และที่สำคัญไม่มีเสียงระเบิดให้ตกใจกลัวด้วย ( ข้อมูลจาก gridmag )



ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาพลุไร้เสียง หรือนำเทคโนโลยีมาใช้จัดแสดงพลุแทนพลุของจริง แต่วิธีการใช้พลุไร้เสียงแบบนี้ ก็อาจจะยังไม่ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ซึ่งถ้าเกิดว่าเลี่ยงไม่ได้ ลองตามดูวิธีการป้องกันและเตรียมตัว เมื่อต้องเจอกับพลุเสียงดังกันดีกว่า

How to วิธีรับมือเสียงพลุ เตรียมตัวเมื่อต้องเจอกับเสียงดังจนตกใจ


วิธีรับมือเสียงพลุ ที่ 1. ป้องกันให้กับ "สัตว์เลี้ยง" เมื่อต้องเจอพลุเสียงดีงในช่วงเทศกาล

  • ฝึกด้วยเสียง เพื่อให้น้อง ๆ คุ้นชิน และมั่นใจว่าเสียงนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตราย ลองฝึกด้วยการเปิดเสียงพลุ เริ่มต้นจากเสียงเบาก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับความดังจนน้องรู้สึกคุ้นชินกับเสียง
  • ใส่เสื้อ Thundershirt เป็นชุดที่รัดบริเวณอก ไหล่ และใต้ท้องของสัตว์เลี้ยง ออกแบบมาเพื่อให้น้อง ๆ รู้สึกปลอดภัยเหมือนถูกกอดรัด สำหรับใครที่ไม่มีชุด Thundershirt สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ผ้าห่อบริเวณหน้าอก ไล่ และไต่ท้องของสัตว์เลี้ยง
  • พาน้องออกกำลังกาย ก่อนช่วงเวลาพลุจะเริ่มบรรเลง ลองพาน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายให้ผ่อนคลาย และให้น้องได้ใช้พลังอย่างเต็มที่ จนน้องเริ่มหมดพลัง เหนื่อยจนหลับก่อนพลุมา เพื่อลดการตอบสนองต่อเสียงของพลุในตอนกลางคืน
  • ขุนน้องด้วยมื้ออาหารอิ่มท้อง ลองจัดเตรียมมื้ออาหารก่อนช่วงเวลาที่พลุจะมา เพื่อให้น้อง ๆ อิ่มท้อง ลดการตอบสนองต่อเสียงของพลุไปได้บ้าง
  • พาน้องไปอยู่ในที่ปลอดภัยต่อเสียง ถึงแม้ว่าจะลดการตอบสนองของน้องต่อเสียงพลุุ แต่หูของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงจะได้ยินเสียงดังกว่าคนเราถึง 2-4 เท่า จึงควรหาที่ปลอดภัยให้น้องอยู่ในช่วงที่พลุมา ปิดประตู หน้าต่างมิดชิด เพื่อป้องกันการตกใจ และป้องกันน้อง ๆ วิ่งหนีออกจากบ้าน
  • นวดสัมผัสอย่างอ่อนโยน ในช่วงที่มีพลุเสียงดัง ลองอยู่ใกล้ ๆ น้องสัตว์เลี้ยง เพื่อให้น้องรู้สึกปลอดภัย พร้อมกับนวด ลูบคลำเบา ๆ และใช้น้ำเสียงสงบพูดคุยกับน้องให้ผ่อนคลาย
  • ปรึกษาสัตวแพทย์ ถ้าหากลองทำมาทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล ลองปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อให้คำแนะนำ บางทีน้องหมาอาจจะมีปัญหาในเรื่องของระบบประสาท หรือสุขภาพในด้านอื่น ๆ อยู่ด้วย

ทริครับมือเสียงพลุ 2. ป้องกันให้กับ "มนุษย์" เมื่อต้องเจอพลุเสียงดีงในช่วงเทศกาล

  • อยู่ในที่ที่รู้สึกปลอดภัย สำหรับใครที่มักจะตกใจเมื่อได้ยินเสียงพลุดัง ๆ ลองหาพื้นที่สงบ ๆ อยู่ในที่เรารู้สึกปลอดภัย ปิดประตู หน้าต่างอย่างมิดชิด หรือเปิดเพลงคลอเพื่อลดเสียงของพลุ และเพื่อให้ตัวเองผ่อนคลาย
  • ใส่หูฟัง หรือที่อุดหู ส่วนใครที่เลี่ยงไม่ได้ต้องออกไปข้างนอก หรืออยู่ใกล้กับบริเวณที่มีงานเทศกาล และได้ยินเสียงพลุชัด ลองใส่หูฟัง หรือที่อุดหู เพื่อลดความดังของพลุลง
  • เปิดเพลงคลอ เป็นอีกหนึ่งวิธีเลี่ยงการฟังเสียงดังจากพลุ และยังช่วยปรับให้จิตใจเราสงบขึ้นด้วย จะฟังเพลงที่ชอบ หรือแนะนำเป็นเพลงฟังสบาย จะได้ช่วยผ่อนคลายจิตใจ ลดอาการวิตกกังวลจากเสียงพลุไปได้
  • ติดตั้งฉนวนกันเสียง วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ไวต่อเสียงมาก ๆ ฉนวนกันเสียงจะช่วยลดการสะท้อน และการส่งผ่านของเสียงภายในที่พักอาศัย ทำให้เสียงไม่ก้อง ไม่สะท้อนไปมา ป้องกันเสียงดังจากสภาพอากาศ หรือเสียงดังจากภายนอกให้เบาลงได้

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากพลุ

สำหรับใครที่เจอผลกระทบจากการจุด พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ก็สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากพลุ ได้ดังนี้

  • สำหรับคนวิตกกังวลจากเสียงพลุ ให้หายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และพยายามหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อคลายความกังวล เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ ดื่มชาร้อน ออกกำลังกายโยคะ ฯลฯ
  • ถ้ามีแผลฉีกขาดจากการโดนพลุ ควรห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าสะอาดพันรอบแผลและกดแผลให้แน่นเพื่อชะลอการไหลเวียนของเลือดและนำส่งโรงพยาบาลทันที
  • ถ้าดวงตาได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดพลุ ควรหาอะไรป้องกันดวงตาและพบแพทย์ทันที
  • ถ้ามีอาการผิวพุพอง ระคายเคืองตามร่างกาย หูอื้อ หรือหูดับ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาก่อนลุกลาม
  • และไม่ควรใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟัน หรือสารเคมีอื่น ๆ ทาบนแผลเด็ดขาด
  • หากพบผู้ป่วยหมดสติ หรือเสียเลือดปริมาณมาก ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาล หรือโทร 1669

แปะพิกัดหน่วยงานช่วยเหลือและตามหาสัตว์หายช่วงเทศกาล

ส่วนเพื่อน ๆ ที่มีสัตว์เลี้ยงน้องหมา น้องแมว แล้วน้อง ๆ ตกใจเสียงดังจากพลุแล้วเกิดหลุดหายไปสามารถแจ้งไปหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือและตามหาสัตว์

  • JS100 โทร 1137 , *1808 หรือ JS100 Application
  • เว็บไซต์ i FOUND PET ifoundpet.com
  • เพจ Facebook ศูนย์รวมประกาศสัตว์เลี้ยงหาย-ตามหาเจ้าของ
  • เพจ Facebook ประกาศหมาแมวหลง หมาแมวหาย ตามหาเจ้าของ
  • เพจ Facebook ตามหานกหาย หมาหาย แมวหาย และสัตว์เลี้ยงทุกชนิด
  • #หมาหาย #แมวหาย #สัตว์หาย

************************************************

สรุป

เป็นยังไงบ้างคะสำหรับ วิธีรับมือเสียงพลุ ทั้งต่อตัวคนและต่อน้องๆ สัตว์เลี้ยง สำหรับยุคนี้เป็นยุคที่ค่อนข้างในความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพลุก็มีส่วนส่งผลเสียกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ทั้งเรื่องของสารเคมี เขม่า ดินปืนที่ค่อนข้างเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ควันไฟต่าง ๆ ที่กระทบต่อมลภาวะทางอากาศ และที่สำคัญในเรื่องของเสียงที่ส่งมลพิษทางเสียงต่อคนและสัตว์รอบข้าง เข้าใจได้ว่าพลุก็มีความสวยงามในแบบของมันเอง การจุดพลุอาจจะช่วยเติมเต็มความสุข พลังใจให้ได้ แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าจะจุดพลุเฉลิมฉลองไปพร้อม ๆ กับการใส่ใจสภาพแวดล้อมไปด้วย ใส่ใจคนรอบข้าง ใส่ใจน้องหมา น้องแมว และสัตว์เลี้ยงไปด้วย เพื่อให้ทั้งคนที่เอ็นจอยและคนไม่ชอบพลุได้แฮปปี้ร่วมกัน ในช่วงเวลาที่สนุกสนานของงานเทศกาลแบบนี้


ขอบคุณรูปภาพจาก istock, adobe stock

ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก โรงพยาบาลบางปะกอก, Thonglor Pet Hospital, Firework alternatives


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้

🔮 ดูดวงกับ SistaCafe ผ่าน Line Official !
รูปภาพสำหรับป๊อปอัพลอย:1