เงินเฟ้อมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และมีผลกระทบต่อหลายแง่มุมของชีวิต ไม่เพียงเงินเดือน ค่าจ้าง หากยังมีผลต่อราคาบ้าน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย แต่เนื่องจากเงินเฟ้อใช้เวลากว่าจะส่งผลเต็มที่ คนส่วนใหญ่จึงยังมักบริโภคและใช้จ่ายตามนิสัยปกติ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อและทำให้นำไปสู่การประเมินผลกระทบของเงินเฟ้อต่ำ หรือมองข้ามผลกระทบของเงินเฟ้อไป

------------------------------------

ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับเราอย่างไร

เงินเฟ้อมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และมีผลกระทบต่อหลายแง่มุมของชีวิต ไม่เพียงเงินเดือน ค่าจ้าง หากยังมีผลต่อราคาบ้าน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย แต่เนื่องจากเงินเฟ้อใช้เวลากว่าจะส่งผลเต็มที่ คนส่วนใหญ่จึงยังมักบริโภคและใช้จ่ายตามนิสัยปกติ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อและทำให้นำไปสู่การประเมินผลกระทบของเงินเฟ้อต่ำ หรือมองข้ามผลกระทบของเงินเฟ้อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการวางแผนการเงินการลงทุน หรือการเก็บออมเงินระยะยาวของคนทั่วไป ตลอดจนการปรับอัตราค่าจ้างหรือการวางแผนธุรกิจระยะยาวของภาคธุรกิจ ต้องคำนึงถึงเงินเฟ้ออยู่ตลอด เราจึงควรทำความรู้จักและเข้าใจกับเงินเฟ้อ เพื่อให้สามารถวางแผนการเงินการลงทุนได้อย่างเหมาะสมโดยที่เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนน้อยที่สุด

วัดเงินเฟ้อจาก CPI

เงินเฟ้อคือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้มูลค่าของเงินลดลง หากราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการสูงขึ้นเพียงครั้งเดียวและไม่ต่อเนื่อง ไม่จัดว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อ

การวัดเงินเฟ้อมีหลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค(Consumer Prices Index : CPI) ที่คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทั่วไปที่ผู้บริโภคจ่ายประจำ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าสำหรับประเทศไทย CPI จัดทำโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 422 รายการและใช้ราคาของปี 2558 เป็นปีฐานในการคำนวณ เพื่อให้ดัชนีมีความทันสมัยสอดคล้องกับรูปแบบการบริโภคและเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่ประเทศส่วนใหญ่มีการปรับฐานการคำนวณเงินเฟ้อเป็นประจำทุก 4-5 ปี

อัตราเงินเฟ้อคือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2559 เพิ่มขึ้น 2% หมายความว่า ราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคจ่ายไปนั้นสูงกว่าปีก่อนหน้า 2% หรือพูดได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2%

เงินเฟ้อมีผลทำให้มูลค่าเงินที่มีอยู่ลดลง ทำให้อำนาจซื้อลดลง ง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ จากตัวเลขข้างต้น ผู้บริโภคต้องใช้เงินมากขึ้นจากปีก่อน 2% เพื่อซื้อสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม เช่น ปีก่อนซื้อข้าว 1 จานราคา 10 บาท ปีนี้ข้าว 1 จานกลับต้องใช้เงินถึง 10.2 บาท นั่นคือใช้เงินมากขึ้น 0.2 บาทเพื่อซื้อข้าว 1 จานเท่าเดิม เช่นนี้เรียกได้ว่ามูลค่าเงินลดลง 2% หรืออีกนัยหนึ่งคือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2%

ดัชนีราคาผู้บริโภคที่คำนวณจากราคาสินค้า เป็นตัวบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อที่เป็นภาพใหญ่ของทั้งประเทศ แต่เงินเฟ้อของรายบุคคลมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรายการสินค้าในตะกร้า (Consumption Basket) ของแต่ละคน เพราะมีการซื้อสินค้าและใช้จ่ายบริการที่ไม่เหมือนกัน บางคนจึงรู้สึกว่าเงินเฟ้อ ต้องใช้เงินมากขึ้นในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ แต่บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่าเงินเฟ้อเลย

ประเภทของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป (CPI) ครอบคลุมราคาสินค้า ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เคหะสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ

2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่หักสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานออก เนื่องจากเป็นหมวดที่มีความเคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน เหลือแต่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด

สาเหตุของเงินเฟ้อมีด้วยกัน 3 ข้อ

ข้อแรก Demand-Pull Inflation เงินเฟ้อที่เกิดทางด้านอุปสงค์ เกิดจากความต้องการที่มีมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงดึงให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดในสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตค่อนข้างร้อนแรง คนมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่การผลิตสินค้าโดยรวมจะตามทัน เมื่อความต้องการมีมากกว่าสินค้า ราคาของสินค้าก็เพิ่มขึ้นข้อสอง Cost-Push Inflation เงินเฟ้อที่เกิดทางด้านอุปทาน เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตาม โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตคือ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น ยางพารา รวมไปถึงการเรียกร้องค่าจ้างสูงขึ้น เมื่อราคาน้ำมัน ยางพารา และค่าจ้างเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการปรับราคาสินค้าจึงมีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นข้อสาม Printing Money Inflation เกิดจากการที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินในระบบ เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาช่วงปี 1980 รัฐบาลเห็นว่าประชาชนไม่มีเงินจึงพิมพ์เงินเพิ่ม ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation ) คนมีเงินมากขึ้นแต่ซื้อของไม่ได้เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่มีสินค้าขาย หรือในอีกแง่หนึ่งคือ มูลค่าเงินด้อยค่าลงอย่างรวดเร็วนั่นเองPrinting Money Inflation ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นมากขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐปี 2008 คือ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย QE (Quantitative Easing) ของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศชั้นนำหลายแห่งที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและคาดหวังว่าจะเกิดเงินเฟ้อ แต่ยังไม่มีผลเท่าที่ควร อัตราเงินเฟ้อของประเทศชั้นนำยังคงอยู่ในระดับต่ำเพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ปัจจุบันยังมีธนาคารกลางหลายประเทศใช้มาตรการ QE อย่างต่อเนื่อง

ความสำคัญของเงินเฟ้อ

มีการนำตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไปใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงบุคคลทั่วไป เงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย วางแนวการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) โดยใช้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นกรอบเป้าหมายที่ 1-4%

การใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย เพื่อที่จะให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่านการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เช่น หากคณะกรรมการ กนง. ประเมินว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเกินกรอบบนของเป้าหมายที่ 4% ก็อาจจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ในทางกลับกัน หากประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดต่ำลงก็อาจจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อได้

การที่เงินเฟ้อสูงเกินไปถือว่าไม่ดีเพราะคาดการณ์อนาคตไม่ได้ วางแผนธุรกิจวางแผนการเงินการลงทุนได้ยาก หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมากอย่างต่อเนื่อง เช่น 50-60% ก็จะทำให้เกิดความคาดหวังว่าราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้นอีก ซึ่งอาจนำไปสู่การกักตุนสินค้า ส่งผลให้เงินยิ่งเฟ้อต่อไปอีก

แต่หากเงินไม่เฟ้อเลยหรือเงินฝืด คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง ความต้องการที่จะใช้จ่ายก็ไม่มี เพราะผู้บริโภคคาดว่าราคาสินค้าจะลดลงอีก ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อหรือกักตุนสินค้า ผู้ผลิตก็จะลดการผลิตลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลดีคือการมีเงินเฟ้อแบบอ่อน เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัว เมื่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น รายได้ของภาคธุรกิจจะสูงขึ้น ผลที่ตามมาก็คือค่าจ้างค่าแรงงานหรือเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นด้วย และยังทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีความต้องการที่จะใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง

เงินเฟ้อจึงมีความสำคัญ โดยภาคธุรกิจสามารถใช้ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นฐานในการคำนวณการให้เงินเดือน ค่าแรงแก่ลูกจ้าง รวมไปถึงการประมาณการราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมผลกระทบจากเงินเฟ้อ และการวางแผนธุรกิจในระยะยาวสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถใช้ตัวเลขเงินเฟ้อมาวางแผนจัดการกับเงินได้ เช่น ใช้กับการวางแผนการเงินการลงทุนเพื่ออนาคต โดยใช้เงินเฟ้อเป็นฐานในการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำจากการลงทุนที่จะชนะเงินเฟ้อ

แนวโน้มเงินเฟ้อ

ปัจจุบันไทยประสบกับภาวะเงินเฟ้อต่ำมาก โดยเงินเฟ้อของปี 2560 เพิ่มขึ้นในอัตรา 0.66% จากปี 2559 ภาวะเงินเฟ้อต่ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุจาก หนึ่ง เทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นแต่ราคาลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สอง ราคาวัตถุดิบหรือปัจจัยในการผลิตลดลงเพราะมีสินค้าอื่นมาทดแทนกันได้ เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ยังเคลื่อนไหวในระดับ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ขุดเจาะ Shale Gas มาใช้แทนน้ำมันในการผลิตได้มากขึ้น รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ามาแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน สาม เทคโนโลยีที่ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินกับการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์สะดวกมากขึ้น ความจำเป็นในการเดินทางไม่มี ค่าใช้จ่ายจึงลดลง สี่ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ความต้องการและความจำเป็นที่จะซื้อสินค้าและบริการลดลง เมื่อไม่มีความต้องการสินค้า เงินเฟ้อก็ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากประเทศญี่ปุ่นที่เงินเฟ้อต่ำมานานเพราะเป็นสังคมสูงวัยอย่างแท้จริง โดยสัดส่วนประชากร 40% มีอายุ 65 ปีขึ้นไปภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลกในขณะนี้ทำให้การบริหารจัดการเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงเพื่อคุมเงินเฟ้ออีกต่อไป ดังจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับต่ำมาตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และการใช้มาตรการ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาของธนาคารกลางหลายประเทศ ยังไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากนัก จึงมีโอกาสที่ธนาคารกลางเหล่านี้จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปและคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีก

สำหรับประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% ยังต่ำกว่ากรอบล่างที่ 1% ของเป้าหมาย 1-4% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางไว้ ขณะที่การประชุมคณะกรรมการ กนง. ล่าสุดเดือนมีนาคม 2561 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%

ยากที่จะบอกว่า เงินเฟ้อต่ำดีสำหรับทุกคนหรือเงินเฟ้อสูงดีสำหรับทุกคน แต่สำหรับประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจต้องมีการบริหารจัดการเงินและการวางแผนที่ดี เพื่อป้องกันผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการวางแผนการเงินการลงทุนในภาวะเงินเฟ้อต่ำและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน

อ่านคอนเทนต์ทางด้านการเงิน การลงทุนดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้ที่

https://kkpadvicecenter.kiatnakin.co.th/th/home