1. SistaCafe
  2. Busy Bragging เทรนด์มนุษย์ทำทรงงานยุ่ง อวดความยุ่งให้โลกรู้!

ฮัลโหลชาวซิสส มา talk talk เมาท์มอยกันค่า สำหรับบทความนี้ขอมาเปิดประเด็นพูดคุยกับชาวซิสวัยทำงานกันบ้างดีกว่า ก่อนเข้าเรื่องของถามหน่อยว่า เพื่อน ๆ เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบนี้กันบ้างรึเปล่า? กับเพื่อนร่วมงานที่มักจะพยายามแสดงให้ออกให้เห็นว่าตัวเองมีงานเยอะยุ่งมาก ๆ ต้องอยู่ออฟฟิศจนดึกทุกวัน เพื่อน ๆ รู้มั้ยว่าพฤติกรรมเหล่านี้ เขาเรียกกันว่า " Busy Bragging " มนุษย์ทำทรงงานยุ่ง อวดความยุ่งให้โลกรู้ ที่ในโลกการทำงานยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงขึ้น นิสัยการทำงานแบบนี้เลยกลายเป็นเทรนด์ใหม่ขึ้นมาด้วย แต่เลี่ยงงานยุ่ง ด้วยการทำตัวยุ่ง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องดีเสมอไปนะ ว่ากันว่าพฤติกรรมแบบนี้อาจส่งเสียทั้งต่อตัวเราและคนรอบข้างมากกว่าที่คิด บทความนี้เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มา talk ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าเทรนด์ "Busy Bragging" ให้มากขึ้น จะเป็นยังไง ลองตามไป talk กันต่อเลย

Busy Bragging คืออะไร?

"Busy Bragging" เป็นพฤติกรรมที่พนักงานมักคุยอวดถึงภาระงานและความสำเร็จของตัวเองอยู่บ่อย ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์คนขยัน ทุ่มเท ทำงานเก่ง และมีความสำคัญกับองค์กร แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้ผลดีตามที่คุยโวเอาไว้ ซึ่งเชลซี สโตกส์ โค้ชด้านอาชีพจากนิวยอร์ก ได้บอกเอาไว้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นวิธีที่พนักงานใช้เพื่อเรียกร้องการยอมรับในที่ทำงาน


สาเหตุของพฤติกรรม Busy Bragging

จากผลการศึกษาของ Pew Research Center ที่เผยแพร่ในปี 2023 ชี้ว่า 49% ของผู้ใหญ่วัยทำงานรู้สึกไม่พอใจกับงาน โดย 38% รู้สึกว่าผลงานและความพยายามของตนไม่ได้รับการชื่นชมและยกย่องจากองค์กรเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานบางส่วนหันมาใช้พฤติกรรม “Busy Bragging” แต่นอกจากนั้นพฤติกรรม Busy Bragging ยังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างเช่นสาเหตุเหล่านี้ด้วย

  • วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานหนัก ในบางองค์กรมีวัฒนธรรมให้คุณค่ากับการทำงานหนักมากกว่าประสิทธิภาพในการทำงาน เลยทำให้พนักงานในองค์กรนั้น รู้สึกว่าตัวเองต้องแสดงออกถึงความพยายามทำงานหนัก อวดตัวเองให้ยุ่งอยู่ตลอด เพื่อให้ได้รับการยอมรับ
  • การแข่งขันในที่ทำงานค่อนข้างสูง ในสภาพแวดล้อมที่ทำงานมีการแข่งขันสูง อาจจะทำให้พนักงานเกิดความเครียดและความกดดันขึ้นมา เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เลยทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าตัวเองต้องแสดงความทุ่มเทในการทำงานให้มากขึ้น เพื่อให้องค์กรเห็นว่าตัวเองทำงานหนัก
  • ความรู้สึกกลัวว่าตัวเองไม่มีคุณค่าในองค์กร อย่างที่บอกไปว่าบางองค์กรมีวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก เมื่อพนักงานอยู่ในองค์กรที่มีบรรยากาศแบบนั้น หากพนักงานว่าง หรือไม่ได้ทำงานหนัก อาจจะเกิดความกังวลขึ้นมาได้ว่าตัวเองไม่มีความจำเป็นองค์กร
  • การขาดความมั่นใจในการทำงาน ในยุคที่การทำงานมีการแข่งขันสูง อาจทำให้บางคนรู้สึกไม่มั่นใจกับการทำงาน หรือผลงานของตัวเอง อาจจะทำให้บางคนต้องงั้นสกีล Busy Bragging มาใช้ เพื่อทำให้ตัวเองดูยุ่ง ๆ ไว้ก่อน เพื่อปกปิดคุณภาพของผลงานตัวเองด้วยก็ได้

ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202684%2FY8kk9qD5WLaseBNzm0cmQH1oIUlO0tj7thLkYUQa.jpg?v=1727191305

พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายBusy Bragging ?

ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมBusy Bragging มาสักพักแล้ว ชาวพนักงานหลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า เอ๊ะ! แล้วพฤติกรรมการทำงานของเราเป็น Busy Bragging ด้วยรึเปล่า? ไม่ต้องเดาให้ปวดหัวกันไป ลองตามไปดูกันต่อเลยว่าสำหรับพฤติกรรมที่เข้าข่ายBusy Bragging บ้าง

  • ชอบพูดว่าตัวเองงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา
  • ไม่สามารถทำงานหลายอย่างให้เสร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำโดยตรง
  • ชอบคุยโวเกี่ยวกับความสำเร็จ ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
  • ต้องการเป็นที่ยอมรับอยู่เสมอ
  • มักจะทำตัวยุ่ง ๆ เพื่อไม่ต้องรับงานเพิ่ม

ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202684%2FOFXYxN0ASQjrBxzrzlSQKfeTljnpqH6reehhGp4u.jpg?v=1727191315

ผลกระทบของ Busy Bragging

จากการศึกษาวิจัยในปี 2024 ที่ตีพิมพ์ใน Personnel Psychology เเละ Terry College of Business มหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่าการโอ้อวดเรื่องความเครียดมักส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน นักจิตวิทยาเตือนว่าพฤติกรรมนี้อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีอีกด้วย และจากที่ทำความรู้จักกับพฤติกรรม Busy Bragging มาแล้ว บอกได้ว่าเป็นพฤติกรรมค่อนข้างที่ส่งผลกระทบต่อทั้งการทำงานและตัวเราเองด้วยนะ


ผลกระทบ Busy Bragging ที่ส่งผลต่อตัวเรา


  • ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

พฤติกรรมของ Busy Bragging มักจะเป็นสไตล์การทำงานที่ทำทรงงานเยอะ ทำตัวยุ่ง ๆ ไปอย่างงั้น แกล้งหลอกว่า Productive แต่จริงๆ แล้ว ค่อนข้าง Low Output สุด ๆ บางครั้งเลยกลายเป็นให้ความสำคัญกับการทำตัวยุ่ง ๆ จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปด้วย


  • ทำให้ไม่มีสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงาน

ต่อจากผลเสียข้อก่อนน้านี้เลยค่ะ ที่บอกว่าพฤติกรรมของ Busy Bragging มักจะโฟกัสกับการทำตัวยุ่ง ๆ เอาตัวเองไปทำงานหนักข้ามวันข้ามคืน นอกจากส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ได้ผลงานที่ไม่ได้ดีเท่าเดิมแล้ว จากที่ต้องกินข้าวให้ตรงเวลา หาเวลาพักผ่อนคลายเครียด แต่กลับโฟกัสที่งานยุ่งเพื่อให้ตัวเองดูเป็นคนทุ่มเทต่อการทำงาน พฤติกรรมเหล่านี้ยังส่งผลให้การดำเนินชีวิตรวนไปด้วย


ผลกระทบ Busy Bragging ที่ส่งผลต่อสังคมและคนรอบข้าง


  • เสี่ยงทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ปลื้ม

สำหรับ Busy Bragging อาจจะคิดว่าการอวดว่าตัวเองงานยุ่ง ทำให้ดูเป็นคนทุ่มเทกับงาน มีความ Productive ตลอดเวลา แต่สำหรับเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น บางคนเขาอาจจะคิดว่าคน ๆ นั้นมีการจัดการเวลาได้ไม่ดีพอ และบางครั้งการคุยโวโอ้อวดในเรื่องของความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเอง ที่ค่อนข้างตรงข้ามกับผลงานที่ออกมา อาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานมองเราในอีกแง่หนึ่งมากกว่าการเป็นคนทำงานหนักด้วย


  • ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือในการทำงาน

นอกจาก Busy Bragging คุยอวดเรื่องงานยุ่งจะทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ค่อยปลื้มแล้ว อาจจะทำให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ยากขึ้นด้วย บางครั้งเขาอาจจะมองว่าความเครียดที่เกิดขึ้นมาจากการจัดการเวลาของคน ๆ นั้นที่ไม่ดีพอ จนทำให้รู้ว่าไม่อยากยื่นมือเข้าไปช่วย และเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ยังไงก็ชอบเพื่อนร่วมงานที่เข้าถึงง่าย อ่อนน้อม รู้จักกาลเทศะมากกว่าจริงมั้ยคะ ถ้ามาทำตัวคุยโม้ทำทรงว่าตัวเองงานยุ่ง ทำงานหนักกว่าคนอื่น ก็อาจจะคนรอบข้างรู้สึกไม่ถูกชะตาสักเท่าไร


  • ทำให้คนรอบข้างเครียดตาม

เมื่อได้ยินเรื่องราวความเครียดและภาระงานของคนอื่นบ่อย ๆ อาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานเกิดความเครียดและเหนื่อยล้าตามไปด้วย และอาจจะทำให้เกิดการกดดันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก มากกว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงาน จนบั่นทอนกำลังใจของทีม หรือเพื่อนร่วมงานไปด้วย


  • เกิดการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ดี

อย่างที่บอกไปว่าเมื่อได้ยินเรื่องราวความเครียดและภาระงานของคนอื่นบ่อย ๆ อาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานเกิดความเครียดและเหนื่อยล้า และเกิดความกดดันเพิ่มขึ้น ในบรรยากาศการทำงานที่ค่อนข้างเครียด กดดันกันเพื่อแสดงว่าใครทำงานหนักกว่ากัน อาจจะทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ดี ทำให้พนักงานโฟกัสแต่การทำงานหนักมากกว่าทำผลงานให้มีประสิทธิภาพ จนทำให้คุณภาพของงานลดลงไป


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F202684%2F4ZJs63h3I9Np20BHf3S0uJtHLw36Owl5QNjm7Y3G.jpg?v=1727191327

วิธีรับมือเมื่อเรากำลังกลายเป็นหนึ่งในBusy Bragging

สำหรับคนที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย Busy Bragging ก็ไม่ต้องกังวล หรือโทษตัวเองมากเกินไป อาจจะด้วยวัฒนธรรมองค์กรก็มีส่วนทำให้เราเกิดความไม่มั่นใจในการทำงาน จนโฟกัสอยู่กับการทำงานหนัก มากกว่าการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และเราสามารถรับมือและแก้ไขกับพฤติกรรมเหล่านี้ได้ ดังนี้


  • ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าชั่วโมงการทำงาน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีพฤติกรรม Busy Bragging มาจากการที่เราโฟกัสแต่การทำงานหนักมากเกินไป อยากจะแสดงให้องค์กรและคนรอบข้างเห็นว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ทุ่มเท Productive ตั้งใจทำงานหรือใด ๆ ก็ตาม จนทำให้เรามองข้ามคุณภาพของการทำงานไป ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ ทิ้งการทำงานหนักไว้ข้างหลัง แล้วพยายามทำงานตรงหน้าให้ออกมาดี เมื่อมีผลงานที่มีคุณภาพ เราจะรู้สึกภูมิใจในผลงานของตัวเอง ช่วยสร้างความมั่นใจในการทำงานให้เพิ่มขึ้นได้ด้วย


  • เพิ่มความมั่นใจด้วยการ upskill ความคิด

อย่างที่บอกไปว่าในการทำงานยุคใหม่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้เราเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมาได้ง่าย จนทำให้ต้องหาวิธีทำตัวให้ยุ่ง ทำงานให้ดูเยอะ ๆ เข้าไว้ เพื่อปกปิดความไม่มั่นใจของตัวเอง แต่แทนที่จะทำสิ่งเหล่านั้นให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ลองหันมา upskill ความคิดแทน ด้วยการเขียนรายการข้อดีของตนเองที่ได้ลงมือทำจนเกิดผลสำเร็จ เช่น วันนี้ ฉันได้นำเสนองานไอเดียดี ๆ ที่ทำให้หัวหน้างานชื่นชอบ ได้มีโอกาสสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เมื่อนึกถึงผลงานและเรื่องราวดี ๆ จะช่วยสร้างคุณค่าทางความคิด ทำให้ไม่เครียดหรือกดดันจนเกินไป เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณเกิดความมั่นใจในการทำงานขึ้นได้ด้วย


  • เพิ่มเติมความรู้และความสามารถในการทำงาน

เมื่อเราเกิดความไม่มั่นใจในการทำงาน นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเรามีความรู้ในด้านนั้น ๆ ยังไม่มากพอก็ได้ ลองทิ้งเวลาที่เราทำงานหนักแบบหลอก ๆ ไป แล้วนำเวลาเหล่านั้นไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม หรือไปฝึกทักษะสกีลอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้ เมื่อมีความรู้หรือทักษะเพิ่มเติมมากขึ้น นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจในการทำงานแล้ว ยังช่วยให้เราพัฒนาผลงานให้ออกมาดี มีคุณภาพยิ่งขึ้นได้ด้วย


  • ค้นหาพลังบวกในการทำงานแต่ละวัน

การที่เรามัวแต่โฟกัสกับการทำงานหนักในแต่ละวัน อาจจะทำให้เราหมดไฟในการทำงานได้ง่าย ๆ ด้วยนะ ลองค้นหาพลังบวก หรืออะไรที่ทำให้เราสนุกและมีความสุขกับการทำงานในแต่ละวัน เช่น การจัดโต๊ะทำงานให้สะอาดน่านั่ง หรือตกแต่งโต๊ะทำงานด้วยสิ่งที่ชอบ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดรอยยิ้มเวลาที่ได้มอง หรือหามุมสงบ ๆ ในการทำงาน เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียด รวมไปถึงการรับฟังเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน โดยการจดจำเรื่องราวดี ๆ ที่ได้ทำงานร่วมกัน นำคำติมาเป็นพัฒนาตัวเองให้ทำงานได้ดีขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยทำให้รู้สึกมีความสุข และสนุกไปกับการทำงานมากขึ้น ทำให้มีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้นด้วย


วิธีรับมือกับคนกลุ่มBusy Bragging ในสังคม ควรปรับตัวแบบไหนดี ?

ในการทำงานกับคนหมู่มาก เราไม่สามารถเลือกการทำงานกับใครคนใดคนหนึ่งได้มากขนาดนั้น บางครั้งอาจจะได้เจอกับคนกลุ่มBusy Bragging บ้างก็ได้ แล้วเราจะรับมือกับคนกลุ่มนี้ได้ยังไง ? ในบทความนี้เราได้นำคำแนะนำจาก สสส. ( สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ) ในการทำงานร่วมกับคน toxic มาแบ่งปันเพื่อน ๆ กันด้วย


  • รักษาระยะห่างจากคนกลุ่มนั้น

ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะเลี่ยงการทำงานกับคนกลุ่มนี้ได้ แต่เราสามารถวางตัวรักษาระยะห่างจากคนกลุ่มนั้นได้ ถ้าจำเป็นต้องสื่อสารอาจลองเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องมือสื่อสารแทนการพบตัวต่อตัวกันตรง ๆ เมื่อไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันตัวต่อตัว อาจจะช่วยลดการปะทะได้ส่วนหนึ่ง และช่วยเซฟสภาพจิตใจและอารมณ์ของเราไปได้ด้วย


  • ควบคุมอารมณ์ของเราเอง

เมื่อเจอกับคนกลุ่ม Busy Bragging เข้ามาคุยอวดถึงการทำงานหนัก หรือโม้เรื่องความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเอง อาจส่งผลต่อตัวเราทำให้รู้สึกกดดันหรือเครียดได้ แต่ถ้าเกิดแก้ปัญหาจากต้นเรื่องไม่ได้ ลองหันมาจัดการกับตัวเองดูก่อน ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่เหมือนจะทำได้ง่าย แต่จริง ๆ แล้วสมองของเราสั่งการณ์ไว้ต่อการตอบสนองทางอารมณ์อยู่ด้วย ลองค่อย ๆ ปรับอารมณ์ด้วยการควบคุมลมหายใจช้า ๆ แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลายอารมณ์ให้เบาลง หรือเลี่ยงไปทำอะไรที่ทำให้เราสบายใจขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองเพื่อไม่ให้อินกับคนกลุ่มนี้มากจนเกินไป


  • บริหารอารมณ์ของตัวเอง

นอกจากการควบคุมอารมณ์ให้สงบ เมื่อเจอกับคนกลุ่ม Busy Bragging เข้ามาคุยอวดถึงการทำงานหนัก ลองบริหารอารมณ์ของเราให้มั่นคงอยู่เสมอ ลองทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายขึ้น อย่างเช่น ฟังเพลง ฟัง Podcast วาดรูป ระบายสี ปลูกต้นไม้ หรือว่ายน้ำ ออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา หรือการปรับสภาพจิตใต รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ของตัวเอง มีส่วนช่วยรับมือให้เราพร้อมรับสิ่งที่จะรบกวนใจได้ดีขึ้นด้วย


  • อย่าหลงกลความ Toxic

อย่างที่บอกไปว่าการที่เจอกับกลุ่มคน Busy Bragging เข้ามาคุยอวดถึงการทำงานหนัก หรือโม้เรื่องความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเจอกับพลังลบที่คนกลุ่มนี้ส่งมามาก ๆ เลี่ยงยังไงก็ทำให้เรานอย เกิดความเครียดหรือกดดันขึ้นมาได้ เลยอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ รู้ทันความคิด ความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าหากมีความรู้สึกที่เริ่มจะเป็นลบลองคิดว่า ถ้าทำผิดไปแล้วความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ แล้วดูว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำจะส่งผลอะไรให้กับเราตามมาบ้าง ความคิดเหล่านี้อาจจะช่วยเตือนสติให้เราไม่ติดหล่มการทำงานหนักแบบคนกลุ่มนี้ไปด้วย


*************************************************

สรุป

การทำงานในยุคใหม่ที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง อาจจะทำให้เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกเครียดหรือกดดัน Busy Bragging อาจเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานที่ไม่สมดุล และไม่ค่อยเป็นมิตรกับพนักงานเท่าไร จากที่ได้ไปหาข้อมูลมาในหลาย ๆ แหล่งข้อมูลให้ความเห็นในทางเดียวกัน ว่าควรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน เน้นไปที่คุณภาพของงานมากกว่าชั่วโมงการทำงาน พร้อมกับชื่นชมกันและกันอย่างจริงใจ และชื่นชมจากหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องความขยันหรือการทำงานหนัก มีส่วนช่วยลดความตึงเครียดจากการทำงาน เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี และเป็นมิตรต่อคนทำงานด้วย


ลิงก์รูปภาพหน้าปก

ขอบคุณรูปภาพจาก istock, Adobe stock

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

เผยโฉม ‘Busy Bragging’ เทรนด์ทำทรงงานยุ่ง สร้างความท็อกซิกในที่ทำงาน

'Busy bragging' workplace trend has employees rethinking their office behavior: 'It doesn't impress people'

Busy Bragging: The latest toxic trait at the workplace

Busy Bragging หรือการอวดว่าตัวเองยุ่งมาก

รับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ Toxic อย่างไร เพื่อไม่ให้เราเป็นคน Toxic เสียเอง


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ


เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้