สุขภาพทางเพศของเหล่าสาวๆ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย แม้จะเป็นจุดซ่อนเร้นแต่ห้ามละเลยเด็ดขาด ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงต้องหมั่นดูแลและสังเกตตัวเองอยู่ตลอด หากเกิดสิ่งผิดปกตินิดหน่อยสามารถส่งผลเสียในระยะยาวได้ โดยวิธีการดูแลที่ถูกต้องที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเข้าพบแพทย์หรือ การตรวจภายใน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนต้องทำหรือเรียกได้ว่าต้องทำเป็นประจำทุกปีเพราะการตรวจภายในสามารถที่จะบ่งบอกหรือบ่งชี้ถึงอาการที่เราอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับอวัยวะภายในหรืออุ้งเชิงกรานได้แถมยังทำให้เราสามารถตรวจพบเจอสัญญาณของโรคต่างๆ ได้แต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมรับมือและเข้ารับการรักษาได้ทัน ฉะนั้นสำหรับสาวๆ คนไหนที่กำลังตัดสินใจไปตรวจภายในครั้งแรกแล้วยังกังวลหรืออาจจะเขินคุณหมออยู่ เรามารู้ถึงสิ่งที่จะเป็นความรู้และขั้นตอนต่างๆ เตรียมไว้สำหรับตรวจภายในครั้งแรกกัน

✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿

รับมือการ ตรวจภายในครั้งแรก ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

การ ตรวจภายในครั้งแรก นั้นสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยอาการทางระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงได้ อย่างเช่น เลือดออกทางช่องคลอด อาการปวดอุ้งเชิงกราน ตกขาว หรือปัญหาทางระบบทางเดินปัสสาวะ และยังสามารถช่วยตรวจหาสัญญาณของโรคต่างๆ อย่างเช่น โรคทางเพศสัมพันธ์ ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกในมดลูก และมะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งการเข้ารับตรวจนั้นเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 21 - 65 ปีและควรเข้าตรวจภายในทุกปีเป็นประจำ เพื่อให้แพทย์พิจารณาประวัติสุขภาพรวมไปถึงประวัติสุขภาพของครอบครัวด้วยว่าเคยมีประวัติการเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งรังไข่หรือไม่ เพื่อให้แพทย์นั้นวินิจฉัยในแต่ละคนนั้นว่าควรเข้ารับการตรวจภายในบ่อยแค่ไหน นอกจากการเข้าตรวจภายในครั้งแรกแล้วหรือนอกจากนี้ใครที่มีอาการดังนี้ ควรไปพบสูตินารีแพทย์ทันทันทีคือ• ปวดอุ้งเชิงกรานหรือมีอาการปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์• มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติ• สงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์• กำลังตั้งครรภ์

เตรียมตัวก่อนไปตรวจภายใน มีข้อควรรู้อะไรบ้าง ?

รูปภาพ:

โดยการตรวจภายในครั้งแรกและเพื่อให้เป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรเตรียมตัวก่อนตรวจภายในโดยไม่เข้ารับการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งสามารถเข้ารับการตรวจเมื่อประจำเดือนหมดสนิทประมาณ 1 สัปดาห์หรือเข้ารับการตรวจในช่วงก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากช่วงที่มีประจำเดือนนั้นจะมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย และอาจทำให้ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคลาดเคลื่อนได้นอกจากนี้ควรปฏิบัติและเป็นข้อควรรู้ก่อนตรวจดังนี้1. ก่อนเข้ารับการตรวจไม่ควรสวนล้างช่องคลอดหรือใช้ยาทางช่องคลอดก่อนการตรวจภายใน 2 วัน2. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเข้ารับการตรวจ3. แนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย และใส่กระโปรง ไม่ควรใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป4. ในกรณีที่มีประจำเดือนและปวดท้อง ทั้งอยากเข้าตรวจภายในสามารถพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนหยุด5. สำหรับสาวๆ ที่มีอาการตกขาว สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องพยายามชำระล้างเพื่อให้แพทย์เห็นปริมาณและตรวจหาเชื้อได้6. ไม่ต้องโกนขน7. ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าตรวจ8. หากไม่เคยตรวจภายในและยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ทั้งรู้สึกเขินอาย สามารถแจ้งพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่เพื่อขอตรวจโดยแพทย์ผู้หญิงได้ แต่โดยทั่วไปแล้วหากเป็นแพทย์ผู้ชายก็จะมีพยาบาลผู้ช่วยที่เป็นผู้หญิงภายในห้องตรวจด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนสำหรับการตรวจภายในครั้งแรกที่ควรรู้

รูปภาพ:

การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที ซึ่งต้องเปลี่ยนชุดและนอนหงายพร้อมวางขาบนขาหยั่ง โดยขั้นตอนการตรวจจะมีดังนี้

การตรวจบริเวณภายนอกด้วยสายตา

แพทย์จะตรวจบริเวณอวัยวะเพศเพื่อดูว่ามีรอยแดง รอยบวม หรือมีอาการระคายเคืองหรือไม่

การตรวจภายใน

แพทย์จะสอดคีมปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อให้มองเห็นบริเวณภายในช่องคลอดและปากมดลูก

การตรวจร่างกาย

แพทย์จะสอดนิ้วมือ 2 นิ้วที่สวมถุงมือไว้แล้วเข้าไปตรวจภายในช่องคลอด และใช้มืออีกข้างกดเบาๆ ลงบนท้องน้อย เพื่อตรวจดูขนาดและรูปร่างของมดลูกรวมถึงตรวจว่ามีตำแหน่งที่บวมหรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติหรือไม่

การตรวจแปปเสมียร์(Pap smear) และเชื้อไวรัส HPV

แพทย์จะใช้ไม้สวอปเก็บตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกแล้วส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยอาจต้องรอผลนานถึง 2-3 วันหรืออาจจะเป็นสัปดาห์

การตรวจทางทวารหนัก

ในบางรายแพทย์อาจสอดนิ้วเพื่อตรวจและสัมผัสว่ามีเนื้องอกหรือความผิดปกติในทวารหนัก

ในระหว่างการภายในหากรู้สึกกังวลและไม่สบายตัว หรือมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นควรแจ้งแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามอาการความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์สามารถสอบถามได้ทันทีเพื่อความสบายใจหลังจากแพทย์ทำการซักประวัติ

ตอบคำถามสาวโสด ตรวจภายในครั้งแรกเจ็บหรือไม่ ?

ในกรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเป็นสาวโสดมาอย่างยาวนาน แพทย์จะสอบถามก่อนเข้ารับการตรวจก่อน และจะเลือกใช้เครื่องมือที่มีขนาดเล็กหรือใช้น้ำยาหล่อลื่นเข้าช่วย เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บในระหว่างที่ตรวจ แต่อาจรู้สึกตึงๆ เจ็บๆ ในขณะที่สอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด แต่หลังจากตรวจภายในครั้งแรกเสร็จสิ้นแล้วอาการเหล่านั้นก็จะหายไปได้และสำหรับใครที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์นั้นโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นมีโอกาสน้อยมาก แต่อย่างไรการตรวจภายในก็ไม่ได้เพียงแค่ตรวจหามะเร็งปากมดลูกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการตรวจเช็ครังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกที่อาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ ดังนั้นการตรวจภายในจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

วัยหมดประจำเดือน จำเป็นต้องตรวจภายในไหม ?

ผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยประจำเดือนนั้นยิ่งควรเข้าตรวจภายในเป็นประจำ เพราะยิ่งอายุมากขึ้นความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งก็ยิ่งสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการตรวจภายในจะช่วยตรวจวินิจฉัยและตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะทำการรักษาได้ทันทีและมีเปอร์เซ็นต์ที่จะประสบความสำเร็จในการรักษามากยิ่งขึ้นอีกด้วย

การฟังผลหลังตรวจภายในครั้งแรก

รูปภาพ:

โดยทั่วไปนั้นหลังการตรวจภายในสามารถทราบผลได้ภายในวันเดียวกับวันที่เข้ารับการตรวจ หากผลออกมาเป็นปกติก็สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องพักฟื้น นอกจากนั้นแพทย์จะมีการพูดคุยอธิบายเกี่ยวกับผลตรวจหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามแพทย์ได้ แต่กรณีที่ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะนัดมาฟังผลอีกครั้งในภายหลัง

✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿

สรุป

ความสำคัญของการตรวจภายในสามารถที่จะบ่งบอกถึงอาการผิดปกติของอวัยวะภายในและยังสามารถตรวจหาสัญญาณของมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย ซึ่งสำหรับสาวๆ ที่กังวลที่จะไปตรวจภายในครั้งแรกนั้นบอกเลยว่าต้องทำใจเพื่อสุขภาพของเราเองแม้ว่าจะเป็นสาวโสดที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องเข้าตรวจเพื่อเช็กอาการต่างๆ ของร่างกายภายในโดยเฉพาะปัญหาตกขาว กระเพาะปัสสาวะ หรือปัญหาสุขภาพมดลูกที่ผู้หญิงหลายคนมักพบเจอ แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านเรื่องนั้นมาแต่หากมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งควรรีบเข้ารับการตรวจภายในเพื่อตรวจเช็กและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่อาจจะมากับเพศสัมพันธ์หรือความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกรานได้ เพราะฉะนั้นลดความกังวลและอาการเขินอายออกไปเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตและใครที่กำลังตัดสินใจเข้าตรวจภายในครั้งแรกนั้นก็อย่าลืมคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเพื่อลดการเสี่ยงนั่นเอง

ขอบคุณรูปภาพจาก : Freepik

บทความอื่นๆ ที่แนะนำ